Revisit Your Soul เข้าใจชุมชนจากตั้งแต่ราก เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน

คุณจั้ม ณัฐดนัย ตระการศุภกร

ในเวิร์กชอปแรกของ Roots05 ที่ผ่านมา เราได้ฟังประสบการณ์จาก ”พี่จั๊ม“ ชาวปกาเกอะญอ ที่เคยใช้ชีวิตและทำงานด้านการตลาดในเมืองใหญ่ แต่วันหนึ่ง…พี่จั๊มเริ่มรู้สึกว่า “สิ่งที่ทำอยู่” อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต พี่จั๊มจึงตัดสินใจ กลับบ้านเกิดเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ที่มีอยู่แล้วในชุมชนนำความรู้และประสบการณ์ด้านการตลาดที่สั่งสมมากลับมาใช้ร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองวันนี้“ ชุมชนปกาเกอะญอ“ กลายเป็นหนึ่งในโมเดลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก Roots Incubation จะพาทุกคนมาถอดบทเรียนว่า อะไรคือวิธีคิด วิธีทำ และหัวใจของการทำงานกับชุมชมแบบที่พี่จั๊มเลือกใช้

1.) เข้าใจราก ก่อนพัฒนาการผ่านแนวคิด “ขุด คุ้ย ค้น”

สิ่งแรกที่ควรทำก่อนลงมือคือ “การเข้าใจชุมชน” ไม่ใช่แค่เข้าใจผิวเผินว่าเขาขาดอะไร แต่ต้องเข้าใจว่า “เขามีอะไรอยู่แล้ว” และ “คิดยังไงกับสิ่งนั้น” การพัฒนาแบบยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจทั้ง “ข้อจำกัด” และ “โครงสร้าง” ของชุมชน ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ เขาเชื่ออะไร และอะไรคือแกนคิดของเขาจริง ๆ ต้อง “ขุด ค้น ค้น“ รากของชุมชนให้ลึก

2.) เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ทำได้จริง

ไม่ต้องคิดใหญ่โตตอนเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่ทำได้จริงจะเป็นพื้นฐานที่ชุมชนเข้าใจและร่วมทำได้เช่นในกรณีของกลุ่มแม่บ้านที่เริ่มเปิดตลาด แม้คนในชุมชนบางส่วนจะมาไม่ได้แต่การเริ่มลงมือทำ ก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว เห็นศักยภาพ และต่อยอดต่อได้

3.) เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนจริงในพื้นที่

การอยู่ร่วมกับชุมชน ไม่ใช่แค่ไปทำงานแต่คือการ “เป็นส่วนหนึ่ง” ของเขาจริง ๆ การร่วมงานเทศกาล เข้าร่วมกิจกรรม และแสดงออกถึงความเคารพ คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่แข็งแรงเราต้องเป็น “เพื่อนร่วมเดินทาง” ไม่ใช่แค่คนเข้าไปช่วย นอกจากนี้การได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน เข้าไปคลุกคลียังเป็นการทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตและปัญหาที่พวกเค้าเจอแบบลึกซึ้ง

4.) สร้างทีมแถว
2 แถว 3 แถว 4 ในชุมชน

การพัฒนาชุมชนจะยั่งยืนไม่ได้ ถ้ามีแค่คนเก่งคนเดียวเราต้องสร้าง “คนอื่น ๆ ในพื้นที่” ให้ลุกขึ้นมาทำงานด้วยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน หรือคนที่ยังไม่เคยมีบทบาทเพื่อให้เกิดพลังร่วม และต่อยอดได้ในระยะยาว

5.) ชุมชนต้องมีเครื่องมือของตัวเอง

สร้างแผนการพัฒนาที่เกิดจากการพูดคุยร่วมกันจากคนในชุมชนเองเวลามีองค์กรภายนอกเข้ามาชุมชนสามารถเสนอข้อมูลของตัวเองได้ทันทีและเลือกได้ว่าจะทำงานร่วมกันหรือไม่ ในหลายครั้งองค์กรณ์ภายนอกเข้ามาด้วยจุดประสงค์ของตัวเองที่อาจจะไม่เข้าใจชุมชนจริงๆ ทำให้มันไม่มีประสิทธิภาพกับทางชุมชนจริงๆ นอกจากนี้ยังเป็นการคัดกรององค์กรที่จะเดินไปพร้อมกับชุมชนได้จริง

6.) สร้างเครือข่ายให้ชุมชนไปได้ไกลกว่าเดิม

เมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว การมีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่เข้าใจกัน จะช่วยให้สิ่งที่ทำขยายผลออกไปได้มากขึ้นทั้งในระดับตำบล จังหวัด หรือแม้กระทั่งระดับประเทศ

คนทำงานชุมชนต้องไม่ลืม “ดูแลใจตัวเอง การทำงานกับชุมชนใช้พลังมาก บางครั้งเราต้องถอยออกมาเพื่อเติมแรงบันดาลใจ เดินทางเพื่อตามหาไอเดียใหม่ เพื่อจะกลับเข้าไปพร้อมพลังที่มากพอในการสู้ต่อ

สิ่งที่พี่จั๊มฝากไว้ก่อนจบ การพัฒนาชุมชน เริ่มจากการฟัง ฟังให้ลึกพอจนเข้าใจ “ราก” ของเขา ไม่ใช่เพื่อจะเปลี่ยนเขาแต่เพื่อให้เขา “เติบโตในแบบของเขาเอง” โดยมีเรา…ร่วมทางไปด้วยชุมชนที่ยั่งยืน ต้องสามารถเดินต่อได้ด้วยตัวเองไม่ใช่แค่พึ่งพาเรา

 

“หน้าที่ของเรา ไม่ใช่ผู้สอนแต่คือ “นักคิดร่วมทาง” ที่เปิดพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ผ่านการ “ลงมือทำจริง”